กฤษณะ เขียน : 'การประกวดพระพิฆเนศวร ครั้งที่ ๑' (๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒)


'พระคเณศสลักหินจากอินเดีย'


      เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมงานประกวดพระพิฆเนศวร ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยโดยสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม งานนี้เป็นการชุมนุมคนรักพระคเณศตั้งแต่รุ่นหนุ่มรุ่นสาว จนถึงรุ่นที่ต้องประคับประคองแขนกันเดิน ต่างก็นำพระคเณศที่บูชาหรือที่สะสมไว้มาประชันกัน มากมายหลายรูปแบบ และก็มีประติมากรหลายท่านก็นำผลงานที่สร้างขึ้นใหม่มาร่วมด้วย

      ผมนั่งดูสังเกตการณ์รอบๆ งานประกวด ก็ชวนให้คิดว่า เอ.....ทำไมมีคนไทยมากมายจึงรู้จักและเคารพเทพองค์นี้กันมากมายนัก ไม่ใช่เฉพาะคนในแวดวงการศิลปะหรือศิษย์มหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยมากมายต่างประกาศตัวเป็นศิษย์พระคเณศ กันอย่างมากมายมหาศาล และนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถึงกับมีโครงการสร้างพระคเณศที่ใหญ่ที่สุด (คนไทยถนัดจริงๆ กับการสร้างอะไรให้ใหญ่ที่สุด) ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยหวังผลพลอยได้จากนักท่องเที่ยวหลังจากนมัสการพระพุทธโสธรแล้วก็มานมัสการพระคเณศต่อ (ทีเดียวได้ 2 ศาสนา)


'ภาพบรรยากาศงานประกวด'

      พระคเณศตามเทวนิยายนั้น เขาว่าเป็นลูกของพระแม่อุมา มีเศียรเป็นช้างเพราะความพลั้งเผลอทางวาจาของพระวิษณุ พระคเณศนั้นมีความกตัญญูอย่างที่สุด กตัญญูอย่างไรก็ลองไปหาอ่านดูนะครับผมขี้เกียจเขียน และถือเป็นคุณธรรมของผู้ปวารณาตัวเป็นลูกของท่านคเณศ ควรถือปฏิบัติตามอย่างยิ่งยวด ขนมโปรดของท่านคือขนมโมทกะใครอยากชิมก็ลองไปเดินหาชิมแถวพาหุรัด แล้วท่านจะทราบว่าทำไมพระคเณศถึงมีร่างกายอวบอ้วนขนาดนั้น พาหนะของท่านเป็นหนู ว่ากันว่าช้างมีธรรมดานิสัยกลัวหนูเป็นที่สุด ท่านคเณศเลยจับมาขี่ซะเลย และเมียของท่านคเณศผมเพิ่งทราบไม่นานนี้เองว่า ท่านมีเมียเป็นต้นกล้วย..!!!!! ครับ...ต้นกล้วยจริงๆ อย่าเพิ่งจินตนาการอกุศลนะครับ เพื่อนแขกเป็นคนบอกผมเอง และสาเหตุที่มีเมียเป็นต้นกล้วยก็เพราะความกตัญญูของท่านนี่แหละครับ ท่านต้องการเอาใจใส่และปรนนิบัติบุพการีของท่านตลอดชีวิต จึงไม่คิดจะเอาใจไปให้ผู้อื่นคือมีเมียนั้นเอง แต่จำเป็นต้องแต่งงานตามประเพณีอะไรทำนองนั้น (จำไม่ค่อยได้) ท่านเลยเข้าพิธีกับต้นกล้วยแทน

      ทีนี้ผมเชื่อว่ามีบางคนไม่เชื่อ บางคนก็สงสัยว่าเทพเหล่านี้มีจริงหรือไม่? ตามเทวนิยายมันดูวิจิตรพิสดารเกินไปหรือเปล่า? ถ้าดูกันไปลึกๆ ยุคแรกๆ ศาสนาฮินดูเราจะพบเทพเพียงไม่กี่องค์เท่านั้น จนมาถึงยุครุ่งเรืองของสามมหาเทพคือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุ (ผู้รักษา) และพระศิวะ (ผู้ทำลาย) แม้แต่พระอินทร์ก็เคยมีความสำคัญอยู่ช่วงหนึ่งและก็หายไป ช่วงหลังต่อๆ มาก็มีเทพใหม่ๆ ผุดออกมาอย่างไม่ขาดสายและบางองค์ก็ขาดหายไปจากสาระบบ บ้างเคยเป็นเทพระดับดิวิชั่น 1 ภายหลังก็ถูกลดระดับลง เป็นอย่างนี้ตลอด จนถึงปัจจุบันคาดการณ์ว่าทั่วอินเดียน่าจะมีเทพจำนวนหลายพันหลายหมื่นองค์ แต่คเณศเป็นเทพองค์หนึ่งซึ่งมีเสถียรภาพมั่นคง ยาวนาน และนับวันจะมีคนศรัทธามากขึ้น





'ภาพบรรยากาศงานประกวด'


      ความเห็นส่วนตัวผม เป็นได้สองทางคือ
      เทพเป็นตำแหน่งทางจิตวิญญาณที่มีพลังงานและคุณธรรมในระดับหนึ่ง ลักษณะเดียวกับความเป็นพรหมในพระพุทธศาสนา มีการเกิด-ดับตามเหตุและปัจจัย
      เทพเกิดจากความเชื่อของคนนั้นแหละ ความเชื่อความศรัทธามันก็เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง หลายๆคนเชื่อในสิ่งเดียวกันมากเข้าๆ พลังงานก็รวมกันมากเข้าๆ ก็กลายเป็นก้อนพลังงานที่มีพลัง มีชีวิต สามารถดลบันดาลตามที่เราเชื่อและศรัทธา เกิดการสร้างรูปลักษณ์แทนค่าพลังงานนั้น ก็กลายเป็นพระคเณศที่มีตัวเป็นคนเศียรเป็นช้างขึ้น น่าจะทำนองเดียวกับพระสยามเทวาธิราช ที่เป็นการรวมกลุ่มพลังงานของผู้รักชาติ จิตวิญญาณที่มีปณิธานเดียวกัน เกิดการรวมตัวของพลังงานเป็นเทพไทยๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นไปได้นะครับถ้าคุณเชื่อเรื่องพลังงานของจิต ยิ่งมีคนศรัทธาพระคเณศมากขึ้นเท่าไหร่ พลังงานก็จะเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น จนอาจดลให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ สำหรับผู้ที่ศรัทธา หรือบางคนก็สามารถนำพลังนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ตัวอย่างเช่น หมอดู และแพทย์แผนไทย มากมายต่างก็มีความเชื่อในพลังของพระคเณศนี้

      คนอีกหลายจำพวกที่สามารถสัมผัสถึงพระคเณศได้ และเกิดการปรุงแต่งต่อเติมมากมายตามประสบการณ์ กิเลส ตัณหาของแต่ละคน ก็ตั้งเป็นข้อจำกัดว่า พระคเณศจริงๆ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ชอบอันนั้นอันนี้ ไม่ชอบอันนั้นอันนี้ จนยุคนี้เราสามารถเห็นพระคเณศนักกล้ามเหมือนครูสอนตามฟิตเนส..!!!! เออ...ก็ว่ากันไป

      ความพิเศษอีกอย่างของพระคเณศคือท่านมีสเกลที่กว้างมาก ทำให้ผู้คนมากมายตั้งแต่จิตต่ำๆ จนถึงสูงๆ สามารถรู้สึกถึงท่านได้ ซึ่งต่างจากหลายๆ เทพที่มีสเกลแคบกว่าคือ จิตต่ำๆ ไม่สามารถสัมผัสท่านเหล่านั้นได้ ต้องทำจิตให้บริสุทธิ์หรือให้สูงพอ จึงสามารถรู้สึกถึงได้ เช่นนี้แหละท่านจึงเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

      คราวนี้มาดูร่างทรงหรือผู้ที่มีองค์เป็นคเณศทั้งหลาย ผมเห็นมันมีอยู่ที่เดียวนี่แหละคือประเทศไทย ผมอยู่อินเดียร่วมสามปี เคยไปร่วมงาน ทุรคาปูชา ที่เมืองกัลกัตตา ก็อารมณ์เดียวกับ คเณศปูชา ที่บอมเบย์นั้นแหละครับ แถวกัลกัตตาเป็นถิ่นของเจ้าแม่ทุรคา แถวบอมเบย์เป็นถิ่นพระคเณศ งานปูชา (บูชา) เขายิ่งใหญ่ ฉลองกันทั้งเมืองมีการจัดประกวดปะรำ แท่นบูชาของแต่ละท้องถิ่น งดงามมาก บูชากันทั้งวันทั้งคืนตลอดสัปดาห์ (หรืออาจมากกว่าจำไม่ได้) ผมไม่เห็นร่างทรงสักร่าง ไม่มีใครมาดิ้นผับๆ เต้นผางๆ จ้าวลง องค์ลงอย่างเมืองไทยเลย...ก้อ....เก็บไปคิดกันเองละกันนะครับ...


'คณะกรรมการกำลังพิจารณาผลงาน'


'โฉมหน้าผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อมผลงาน'

      ทีนี้เรื่องการบูชาพระคเณศ ส่วนใหญ่เขาจะบูชาคเณศก่อนการบูชาเทพองค์อื่นๆ หรือก่อนจะมีพิธีสำคัญ หรือประกอบกิจการงานใดๆ เพราะเชื่อว่าพระคเณศเป็นเทพผู้บันดาลความสำเร็จ บูชาท่านก่อนแล้วงานต่างๆ จะสำเร็จทุกประการ ก็ต้องสำเร็จละครับถ้านำคุณธรรมของคเณศไปประพฤติปฏิบัติ คือความกตัญญู รู้หน้าที่ และมีปฏิภาณรอบรู้ในกิจการงานของตน ในเมืองไทยท่านยังต้องรับภาระในการเป็นเทพแห่งศิลปะ เพราะมหาวิทยาลัยทางศิลปะได้นำท่านมาใช้เป็นสัญลักษณ์ คนก็เลยเหมาว่าท่านเป็นจ้าวแห่งศิลปะ ก็ไม่เป็นไรครับ คิดและศรัทธาไปทางใดก็จะเกิดพลังงานในทางนั้นๆ หลักจิตตานุภาพว่างั้น แต่รู้สึกที่อินเดียเรื่องศิลปะนี่ต้องให้พระสรัสวตี (ถ้าจำไม่ผิด)

      พูดกันตรงๆ คนไทยส่วนใหญ่บูชาคเณศก็ไม่พ้นการขอนั่นแหละครับ ขอทุกอย่าง หวย บ้าน ที่ดิน ขอลูก ขอเมีย ฯลฯ ได้บ้างไม่ได้บ้างตามประสา ผมเห็นหลายท่านที่เป็นชาวพุทธ รับไตรสรณะคมณ์ ปากก็ท่องบ่นว่า "สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า" เสร็จแล้วก็ไปเฝ้าขอหวย ตามสำนักเทพต่างๆ มากมาย เห็นแล้วก็สงสารและห่วงใยต่อพระพุทธศาสนา ผมไม่ได้โจมตีหรือต้องการทำให้แตกแยกแต่อย่างใด ในห้องพระที่บ้านผมก็มีหิ้งสำหรับเทพ แต่ก็อยากให้ชาวพุทธเราที่นับถือเทพ นับถืออย่างมีสติปัญญา บูชารูปให้ถึงคุณธรรม ถึงความดี ของเทพแต่ละท่านแต่ละองค์ บูชาพระวิษณุกรรมก็บูชาในฐานะเป็นตัวแทนแห่งความระลึกถึงครูช่างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บูชาพระแม่ธรณีก็ให้ระลึกถึงคุณแผ่นดิน เป็นต้น ท้ายสุดผมเชื่อว่าไม่มีอะไรอยู่เหนือกฎแห่งกรรมหรอกครับ ทำเหตุปัจจัยให้มันดี มันก็ต้องดี เชื่อเถอะ


      คลิกชมภาพ "เทพแขกชอบให้ กับคนไทยชอบขอ (Ganesha)" โดย กฤษณะ ชวนคุณากร

      กลับมาว่ากันถึงงานประกวดพระคเณศ ผลการตัดสิน 4 ใน 5 ของผู้ได้รับรางวัลเป็นงานที่สร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมด ผมได้ยินแว่วๆ จากคณะกรรมการว่าอยากจะให้กำลังใจแก่ศิลปินผู้สร้างงาน ในฐานะที่เป็นคนทำงานศิลปะคนหนึ่ง ผมก็เห็นดีด้วย ติดอยู่นิดนึงครับ น่าจะบอกกันก่อน เพราะวันนั้นผมแ บกพระคเณศหินแกะสลักไป 6 องค์ น้ำหนักรวมกว่าร้อยโล ..............มันหนักนะ...............


M&W
29 ตุลาคม 2552

Back to Top


  |  Biography  |  Gallery  |  Artist' talk  |  
   
  Copyright © 2007-2013 Thaksinawat.com  All rights reserved.  Create & Maintained by JitdraThanee.com  (best viewed :1024x768 pixels)