สุวัฒน์  เขียน : 'วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทย' (๓๐ มิ.ย. ๒๕๕๑)


ภาพลายเส้นจารึกบนแผ่นศิลาในอุโมงค์วัดศรีชุม สมัยสุโขทัย (จากหนังสือ 'วิวัฒนาการลายไทย' น. ณ ปากน้ำ สนพ.เมืองโบราณ หน้า 98)
     จากภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน ที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย (กลางพุทธศตวรรษที่ 19) อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นเค้าหรือรากของจิตรกรรมไทย ซึ่งทำขึ้นตามคำสันนิษฐานว่า พระภิกษุชาวลังกาเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในนามพระธรรมฑูตสายลัทธิลังกาวงศ์ พระสงฆ์บางรูป อาจเป็นช่างที่เข้ามาสอนช่างไทย สลักภาพลงแผ่นหินศิลปะในยุคนี้ จึงมีอิทธิพลตามอย่างรูปแบบศิลปะอินเดียอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งยังไม่มีความเป็นไทย หากจะเริ่มการเกิดขึ้นของศิลปะทางด้านจิตรกรรมไทยที่พอจะกล่าวอ้างได้ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยที่เก่าแก่ที่สุด คือ จิตรกรรมที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งวาดขึ้นปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือ กลางพุทธศตวรรษที่ 19 ส่วนจิตรกรรมฝาผนังของสุโขทัยในที่อื่น อาจปรากฏมีอยู่บ้างแต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน เพราะได้ลบเลือนเสียหายไปหมด ส่วนใหญ่จะนิยมใช้สีฝุ่น (Tempera) ในการเขียนภาพตามเทคนิคโบราณ จึงมีอายุไม่ยืนยาวตามวัสดุและความชื้นที่มีแฝงอยู่ในผนังปูน
     และอีกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่พบเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของจิตรกรรมไทยอีกที่หนึ่งก็คือ ภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลป จังหวัดยะลา ซึ่งได้คัดลอกไว้โดย นายเขียน ยิ้มศิริ ปฏิมากรแห่งกรมศิลปากร ซึ่งเป็นภาพหลายสมัยและหลายศิลปะปนกัน เช่น ภาพพระพุทธรูปมีพระสาวกและสตรี ๓ คนกำลังยืนอยู่ นั้นก็ปรากฏรูปแบบศิลปะศรีวิชัย สันนิษฐานว่าวาดขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีพระสงฆ์ธรรมฑูตจากลังกามาเผยแพร่ศาสนา พำนักอยู่ที่นครศรีธรรมราช ก่อนขึ้นมาต่อยังกรุงสุโขทัย ในกลางศตวรรษที่ ๑๙

     ในอดีตสมัยนักวิจารณ์นักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์มิได้สนใจในภาพเขียนสีมากนักแต่จะให้ความสำคัญของงานประติมากรรมรูปเคารพเสียมากกว่า ดังที่ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้แปลจากบทความเรื่อง The Cave Paintings of Yala เมื่อ พ.ศ. 2501 เขียนโดย ศ.ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นบทความภาษาอังกฤษว่าด้วยเรื่อง ภาพเขียนสีของไทย เป็นส่วนจุดประกายให้นักโบราณคดีไทย รวมถึงกรมศิลปากรได้ให้การสนใจมากขึ้น จัดให้มีการถ่ายภาพขาวดำไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แล้วมีการมอบหมายให้ถ่ายเป็นภาพสีในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพเขียนที่ชำรุดมาก แต่เผยให้เห็นสกุลช่างท้องถิ่นซึ่งยังมีรูปแบบศิลปะศรีวิชัยแฝงอยู่

     ภาพที่เป็นที่สนใจก็เป็นภาพพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งจะดูเป็นธรรมชาติมากกว่าศิลปะแบบสุโขทัย แม้แต่การวางเท้าก็เป็นอย่างท่าคนยืนจริง ๆ ซึ่งส่วนของริ้วจีวรก็มีลีลาที่ซ้ำๆ กัน ชวนให้เปรียบเทียบกับรูปแบบของศิลปะชวาที่บรมพุทโธ (Borobualur) ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่า ภาพพระพุทธรูปของยะลาและของสุโขทัยนั้น น่าจะมาจากรูปแบบที่มีรากฐานมาจากศิลปะอินเดีย

     ภาพเขียนสีในผนังถ้ำ จังหวัดยะลา ใช้วรรณะของสีเป็นสีดินเหลือง และค่อนไปทางน้ำตาลและแดง เพื่อให้เกิดน้ำหนักอ่อนแก่และช่างใช้สีดำเป็นสีตัดเส้น เพื่อตัดเส้นรูปนอก บรรยากาศของภาพจึงเป็นลักษณะสีเอกรงค์ การกล่าวถึงศิลปะในแบบสุโขทัย ซึ่งเป็นระยะเวลาคาบเกี่ยวกัน อันได้แก่ภาพเจดีย์วัดเจ็ดแถวที่กล่าวไว้ข้างต้น มีความงดงามมากทำให้ทราบถึงความเจริญทางด้านประติมากรรมของไทยว่าได้วิวัฒนาการจนเป็นรูปแบบของไทยเอง เพราะว่าปรากฏเป็นภาพเขียนที่ฝาผนังวัดเจดีย์เจ็ดแถวจะเห็นได้ว่าขณะที่รูปเทวดา ยังมีแบบแผนมาจากการวาดภาพที่มาจากเกาะลังกาอยู่ แต่พระพุทธรูป มีลักษณะเป็นประติมากรรมสุโขทัยแล้ว และภาพเขียนของไทยก็เริ่มวิวัฒนาการเข้าสู่รูปแบบเฉพาะของตนเอง แต่ก็ยังปรากฏอิทธิพลศิลปะอินเดียและเขมรผสมอยู่ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 พบว่างานจิตรกรรมไทยได้พัฒนาเป็นลำดับขึ้น คือ รูปอดีตพุทธเจ้าที่กำลังลีลาอยู่บนขอบฐานบนของรอยพระพุทธบาทนั้น ถึงแม้จะไม่มีความละมุนละไมมากนักเพราะเป็นยุคเริ่มแรก และเบื้องล่างของรอยพระพุทธบาทก็พบรูปโลกบาลยืนถือพระขรรค์อยู่อีก 3 รูป แต่ความแตกต่างทางใบหน้าจนอาจทำให้สันนิษฐานว่า

     ทำขึ้นโดยช่างคนละกลุ่มกันอย่างไรก็ตามการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะนี้ทำให้เราทราบถึงวิวัฒนาการ และไม่มีตัวอย่างที่ดีไปกว่าสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว
     วิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของจิตรกรรมไทย คือ เข้าสู่รูปแบบของศิลปะอยุธยา เมื่อพบภาพจิตรกรรมไทย ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 พบภาพเขียนสีที่วัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำกันขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1967 - 1970 เป็นภาพจิตรกรรมสีปูนเปียก เป็นภาพเทวดา ลักษณะเดียวกับที่ภาพสลักลายวัดศรีชุม สุโขทัย ถึงแม้ว่าจะใช้สีเขียนถึง 4 สี คือ ขาว ดำ เหลือง และสีดินแดง วรรณะของสีที่ออกมาก็ยังเป็นลักษณะสีเอกรงค์ ซึ่งในระยะเริ่มต้นศิลปะอยุธยาก็เป็นแบบนี้ เราจะเห็นสีหลายหลากสีในช่วงศิลปอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันภาพเขียนสีในเจดีย์วัดราชบูรณะนี้ได้สูญหายเสียหมดสิ้นแล้ว เนื่องด้วยความพุพังตามกาลเวลาและภัยทางธรรมชาติ แต่ก็ยังเป็นโชคดีของคนไทยที่ก่อนเจดีย์วัดราชบูรณะจะพังลงมา ได้มีจิตรกร ชื่อ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ได้ทำการคัดลอกไว้หลายรูปด้วยความสมัครใจ

     จะกล่าวถึงความงามของจิตรกรรมไทยที่เจดีย์วัดมหาธาตุ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับพระพิมพ์ลพบุรีมาก ด้วยการนิยมเขียนพระพุทธรูป เรียงแถวซ้อนกันเป็นแนว ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้แบบอย่างมาจากภาพสลักตามหน้าถ้ำเจติยสถาน และถ้ำวิหารทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย สรุปช่วงเวลาของงานจิตรกรรมสมัยอยุธยา ก็ไม่มีความก้าวหน้ากว่าศิลปะสุโขทัย แต่จะสามารถแยกต่ออิสระจากศิลปะอินเดียได้อย่างชัดเจน การพัฒนาการของจิตรกรรมสมัยอยุธยารุ่นแรกขยายผลถึงจิตรกรรมฝาผนัง วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ซึ่งวาดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ปรากฏเป็นภาพพระพุทธรูปยืนเรียงแถวเช่นเดิม ตลอดฝาผนังทั้ง 3 ด้าน ภายในองค์พระปรางค์การจัดองค์ประกอบภาพคล้ายกับของเดิมแตกต่างตรงพื้นหลัง เป็นสีค่อนข้างเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว และมีสีแดง สีน้ำตาล และดำ เขียนประกอบอยู่ด้วยในภาพเขียนยุคนี้ได้มีอิทธิพลของศิลปะแบบอู่ทองเข้ามามีอิทธิพลอยู่บ้าง และเผยให้เห็นอิทธิพลศิลปสุโขทัย จากรากเหง้าประเทศอินเดียเห็นอยู่เพียงเล็กน้อย สังเกตได้จากพระรัศมี ต่อมาภายหลังกว่า 30 - 70 ปี ได้พบภาพเขียนบนแผ่นชิน เป็นภาพพุทธสาวกยืนประนมมือ ในมือนั้นถือดอกบัวอยู่บนแผ่นชิน ในพระเจดีย์องค์ใหญ่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ยังขาดชีวิตจิตใจ สิ่งปรากฏการณ์ใหม่ก็เห็นเพียงแต่มีพระมัสสุ (หนวด) และพระโขนง (คิ้ว) ที่ชัดเจนปรากฏอยู่บนใบหน้าพระสาวกการพัฒนาการที่ต่อจากนั้นอีกประมาณ 100 ปี ก็มีการพบศิลปวัตถุทางจิตรกรรม อีกชิ้นหนึ่งก็คือ สมุดภาพเรื่องไตรภูมิ มีอยู่ประมาณหนึ่งร้อยหน้า เป็นภาพเขียนสีหลายสี สันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นตอน ด้านพุทธศตวรรษที่ 22 รูปแบบของงานจิตรกรรมไม่ยึดตามกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด เช่นภาพขบวนแห่การเสด็จกลับของพระเวสสันดร ซึ่งมีคนหาบหามของอยู่ในขบวนแห่ ขบวนช้าง - ม้า ตลอดจนถึงนักดนตรีและนางรำ สังเกตจากภาพวาดขนาดย่อม จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของศิลปะอินเดียได้หายไปอย่างสิ้นเชิง แต่อิทธิพลของศิลปะจีนกำลังจะเข้ามาซึ่งสังเกตได้จากภาพเขียนเขามอ ต้นไม้ต่างๆ และสายน้ำสัตว์ต่างๆ

     ย้อนกลับไปดูจากหลักฐานภาพประวัติศาสตร์และโบราณคดี ต่อจากจิตรกรรมวัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี เข้าสู่พัฒนาการศิลปะอยุธยาตอนกลางและปลาย สันนิษฐานว่าอยู่ในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 22 มีการจัดองค์ประใหม่ขึ้นมา ก็คือ เป็นภาพเทพชุมนุมเขียนเป็นเทวดานั่งเรียงฐาน แต่ก็ยังใช้วิธีการเรียงแถว แต่ขั่นด้วยช่อดอกไม้ทิพย์และช่อลายกระหนก ซึ่งปรากฏเป็นอิทธิพลแก่วัดหลายๆ วัดในปลายสมัยศิลปะแบบอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 - 2392) ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นภาพเทพเทวดาเรียงตามความสูงศักดิ์ของเทพ ตั้งแต่ ยักษ์ ครุฑ คนธรรม์ และนาค จนมาถึงเทวดาชั้นอินทร์ พรหม ฯลฯ ซึ่งนิยมเขียนพื้นฉากหลังเป็นสีแดงชาด
การพัฒนาขยายผลต่อไปสู่ศิลปสมัยอยุธยาตอนปลาย จากภาพเขียนในพระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ณ วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วรรณะของสีส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนการวาดภูเขา ต้นไม้ ก็มีลักษณะอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามา ต่อมาภายหลังช่างก็นิยมเขียนธรรมชาติคล้ายจริง ส่วนน้ำก็เป็นลูกคลื่นหรือเป็นเกล็ดปลา เข้ามาสู่ยุคศิลปะของจิตรกรรมฝาผนังก่อนสมัยธนบุรี ปรากฏภาพเขียนสีที่มีรอยต่อของศิลปะอยุธยาตอนปลายและต้นศิลปะรัตนโกสินทร์ ก็คือ ศิลปะแบบธนบุรี ซึ่งไม่นิยมเรียกกันนัก ก็ปรากฏอยู่ที่วัดชมพูเวก จังหวัดนนทบุรี สันนิษฐานว่าราวพุทธศตวรรษที่ 2319 เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น ภาพจิตรกรรมไทยที่เป็นช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อ ระหว่างศิลปะธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ปรากฏให้เห็นอยู่ และยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการว่าจะชี้ชัดให้เป็นรูปแบบศิลปะสมัยไหนก็ยังกล่าวอย่างชัดเจนก็คงยาก ภาพเขียนที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดอุตรดิตถ์ และอีกหลายวัด แต่จะมีหลักฐานให้อ้างอิงได้ก็คือ จะมีสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี สังเกตจากการวาดภาพทั้งบุคคลและสถาปัตยกรรมก็เป็นสูตรตายตัวตามกฎเกณฑ์ไปเสียทุกอย่าง นักวิชาการหลายท่านให้ข้อคิดว่า ศิลปะสมัยนี้เป็นไปอย่างเคร่งครัดเพราะต้องฝึกตามอย่างที่ต้องลอกเลียนแบบอาจารย์ของตน ไม่สามารถสร้างสรรค์ได้อิสระเหมือนศิลปะสมัยอยุธยา จึงเป็นข้อเปรียบเทียบกันระหว่างสมุดภาพฉบับสมัยกรุงธนบุรีและสมุดภาพฉบับสมัยอยุธยาที่กล่าวถึงเรื่องไตรภูมิย่อมแตกต่างกันมากแต่จะให้ชี้ชัดว่าเล่มฉบับใดเป็นเล่มที่ดีที่สุดคงกล่าวได้ค่อนข้างยาก เพราะทั้ง 2 เล่มก็เป็นงานชิ้นเอกในสมัยของตน

     การก้าวล่วงเข้ามาสู่ยุคสมัยของงานจิตรกรรมไทย ที่เข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 ซึ่งอยู่ในช่วงปรับปรุงเป็นเวลา 10 กว่าปี ช่างฝีมือยังไม่สะดวกแก่การผลิตศิลปวัตถุใดๆ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 หลังสมัยกรุงธนบุรีได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีหลายวัดที่มีช่างของสกุลศิลปะอยุธยา คงพอหลงเหลืออยู่มาบ้าง แต่รูปแบบทางศิลปะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามเหตุปัจจัยหลายด้าน เข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 25 ภาพจิตรกรรมไทยก็ได้รวบรวมเอาสกุลช่างไทยอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน สกุลช่างรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะลดความพลิ้วไหวของตัวกนก หันมาสร้างงานรูปแบบง่ายๆ ขึ้นไม่ซับซ้อนหรือพลิ้วไหวเหมือนแบบศิลปะแบบอยุธยา เน้นการเขียนสีพื้นหลังเป็นสีเข้ม ตัวภาพเป็นสีอ่อน เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดดุสิตตาราม และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ทางเหนือของประเทศไทยก็มีการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะพม่ามาบ้าง จะมีการเขียนหน้าตาและเครื่องแต่งกายเป็นแบบล้านนา ตลอดจนสถาปัตยกรรมก็ยังเป็นรูปแบบศิลปะแบบล้านนา อาทิ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน วัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าวาดขึ้นราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ต่อมาภายหลังจากต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แล้ว รูปแบบทางด้านจิตรกรรมฝาผนังไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น เพราะเป็นช่วงของศิลปะตะวันตกได้มีอิทธิพลเผยแพร่เข้ามา ศิลปินไทยก็ตื่นเต้นกับความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจ ซึ่งงานศิลปะตะวันตกค่อนข้างจะแข็งกระด้าง ด้วยความปรารถนาที่จะพัฒนาศิลปะไทยให้ทันสมัย ช่างต่าง ๆ พยายามที่เลียนแบบศิลปะตะวันตก โดยนำเรื่องสามมิติและการมองภาพแบบทัศนียวิสัย (Perspective) และการมีปริมาตร (Volume) ซึ่งแต่เดิมภาพจิตรกรรมไทยมีเพียง 2 มิติ เมื่อช่างในยุคนั้นรับเอาศิลปะตะวันตกมาทำให้คติและการเขียนภาพของไทยสูญเสียลักษณะพิเศษไป แต่ก็มีลักษณะที่มีความแปลกใหม่เข้ามาแทนที่ อย่างเช่น การเขียนภาพตัวภาพจะมีเรื่องของสัดส่วนคนและลักษณะทางกายวิภาค คือ เขียนตัวภาพ ตัวละครต่าง ๆ ก็มีกล้ามเนื้ออย่างเช่น ภาพจิตรกรรมที่เขียนฝาผนังระเบียงวัด พระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา เป็นงานศิลปะที่ได้รับแนวคิดแบบตะวันตกและตะวันออกปนกัน ถึงอย่างไรก็ตามเราต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการไปสู่สิ่งใหม่ หากไม่ดีเดินทางหรือสร้างสรรค์ต่อไปไม่ได้ก็ต้องหวนกลับมาพัฒนาต่อสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ฉนั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นข้อดีบนการเปลี่ยนแปลงจะได้ทราบว่าจิตรกรรมไทย ควรพัฒนาบนฐานของการอนุรักษ์ที่ไม่ละทิ้งความงดงามทางสุนทรียศาสตร์ แบบไทย ที่มีแบบแผนและควรพัฒนาทางด้านรูปแบบ และวิธีการนำเสนอให้มีความทันสมัยให้น่าสนใจ

     จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการเขียนภาพจิตรกรรมไทยแผนใหม่ ยังปรากฏภาพจิตรกรรมไทย ที่แสดงเรื่องพงศาวดารและประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาพวาดไว้ในหอราชกรมานุสรณ์ และหอราชพงศานุสรณ์ ซึ่งอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ผนังภายในโปรดให้จิตรกรเอกสมัยนั้นคือ พระอาจารย์อิน (ขรัวอินโข่ง) แห่งวัดราชบูรณะ วาดภาพพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนหอราชพงศานุสรณ์ โปรดให้เขียนเรื่องพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ และพงศาวดารตำนานพระแก้วมรกต ปัจจุบันอยู่ที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ก็ยังมีการโปรดให้เขียนภาพที่พระที่นั่งทรงผนวช ที่สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นภาพบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และยังสอดแทรกเรื่องพระราชพิธีสำคัญ และแทรกภาพเหมือนพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ของพระองค์เอาไว้เมื่อตอนเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระที่นั่งทรงผนวชนี้อยู่ในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร

     งานจิตรกรรมไทยแนวใหม่ฝีมือของ ขรัว อินโข่ง จิตรกรผู้อยู่ในเพศบรรพชิต ผู้เนรมิตศิลปะตามอย่างรูปแบบจิตรกรรมตะวันตก เขียนภาพโดยมีระยะใกล้ไกลด้วยกฎเกณฑ์ทางทิศนัยวิทยา จัดองค์ประกอบภาพแบบใหม่ ทั้งรูปคนการแต่งกาย ตึกอาคารทิวทัศน์ สร้างอารมณ์ของภาพด้วยบรรยากาศของประเทศเมืองหนาว มีวรรณะของสีที่เข้มมืดทึบ งานจิตรกรรมดังกล่าวปรากฏให้เห็นที่ฝาผนังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารและพระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
     ต่อมาภายหลังก็มีจิตรกรที่มีชื่อเสียงในแต่ละยุคสมัยพอยกมากล่าวอ้างถึงความเป็นจิตรกรแห่งยุคได้ ดังนี้

     สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีศิลปินแห่งยุคเป็นที่ประจักษ์คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ภาพที่สร้างชื่อเสียงก็คือ ภาพฝีพระหัตถ์ ชื่อภาพ “โพนช้าง” ซึ่งเป็นภาพที่ชนะการประกวดรางวัลที่ 1 เมื่อทรงมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ต่อมาพระองค์ถูกยกย่องให้เป็นทั้งปราชญ์ทางด้านจิตรกรและสถาปนิก ภายหลังในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ทางราชการก่อตั้งโรงเรียนศิลปะ ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2456 ประทานนามว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ทำให้เป็นการเริ่มพัฒนาการทางด้านจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ให้เจริญก้าวหน้า ในสมัยนี้มีจิตรกรรมที่เด่น ก็คือ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตร ภาพเขียนแสดงความประณีตอลังการด้วยสีทองแวววาวในบรรยากาศของสีที่หนักแน่น จิตรกรอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นได้แก่ พระสรลักษณ์ลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์) เป็นจิตรกรที่รัชกาลที่ 5 องค์ก่อนส่งไปศึกษาที่อะคาเดมี กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทยในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญ คือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 2 เขียนด้วยเทคนิคสีน้ำมัน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหอศิลปะ

     ก้าวเข้าสู่แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการจัดแลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปี จิตรกรเอกในสมัยนี้ก็มีพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย) เป็นผู้คุมการบูรณะซ่อมแซมภาพวาดพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีจิตรกรเอกอีกหลายท่าน อาทิ หลวงเจนจิตรยง, ครูทองอยู่ อินมี, ครูเลิศ พวงพระเดช, นายสวงษ์ ทิมอุดม และในสมัยนี้ยังมีจิตรกรอีกท่านหนึ่งที่มีคุณค่า คือ พระยาอนุศาสตร์ จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) มีชื่อเสียงมาแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ผลงานได้รับการยกย่องในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าให้บูรณะจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครอยุธยา เป็นจิตรกรรมฝาผนังยุคใหม่พัฒนาเรื่อง เทคนิค โดยใช้สีน้ำมันแทนสีฝุ่นโบราณ ภาพแสดงระยะใกล้ไกลแบบ 3 มิติ ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกเขียนภาพเรื่องประวัติพระนเรศวรมหาราช ในรัชสมัยนี้ทางราชการ ตระหนักถึงคุณค่าทางการศึกษาไทยด้านศิลปะ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (C.Feroci) เป็นผู้วางรากฐานทางการศึกษาบนแผ่นดินรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล บ้านเมืองประสบเหตุการณ์ตกอยู่ในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการศิลปะได้จัดตั้งและมีความเคลื่อนไหว ภายใต้ชมรมที่ชื่อว่า กลุ่มจักรวรรดิ์ศิลปิน ซึ่งจิตรกรและนักประพันธ์ได้ร่วมกัน จัดการแสดงงานจิตรกรรมสมัยใหม่ขึ้น ณ ศาลาเฉลิมกรุงเป็นการแสดงของ 2 รูปแบบศิลปะ คือ ทั้งทัศนศิลป์ และวรรณกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก นำโดย วรรณสิทธิ์ ปุคะวณัช, สด กรูมะโรหิต, จำรัส เกียรติก้อง, เฉลิม นาคีรักษ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์, ประสงค์ ปัทมานุช เป็นต้น

     เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สงบลง กลุ่มจักรวรรดิ์ศิลปินแสดงงานครั้งที่ 2 และเมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ประกาศยุบตัวเอง เวลานั้นเกิดการทำรัฐประหารโดย พล.ต. ผิน ชุณหวัน เชิญนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่างานศิลปะในระยะเวลานี้เป็นช่วงภาวะตรึงเครียด การที่จะพัฒนาจิตรกรรมไทยที่บ่งบอกวิถีชีวิตและรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และความแปลกใหม่ก็ยังชลอตัวอยู่

     ก้าวย่างเข้าสู่แผ่นดินรัชกาลที่ 9 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก้าวสู่การพัฒนาการทางศิลปะรวมถึงจิตรกรรมไทย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มีส่วนสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 และภาคเอกชน เช่น ธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการประกวด “จิตรกรรมบัวหลวง” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 จากการดำริของ นายบุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) และก็ได้จัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวทีของการประกวดเพียงแห่งเดียวที่จิตรกร หรือศิลปินที่เขียนภาพในลักษณะภาพจิตรกรรมไทย ได้มีโอกาสได้ส่งภาพเข้าประกวด ซึ่งองค์กรเอกชนรายนี้ได้สร้างศิลปินชั้นคุณภาพให้แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนี้พอกล่าวโดยสังเขป คือ เฉลิม นาคีรักษ์, ชลูด นิ่มเสมอ, ถวัลย์ ดัชนี, จักรพันธ์ โปษยกฤต, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร เป็นต้น ด้วยจิตรกรรมไทยเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติและความภาคภูมิใจ นอกจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมที่จะสนับสนุนและจรรโลงเอาไว้ก็ยังมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่ยังคงมีการเรียนการสอนบรรจุวิชาแขนงนี้ไว้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้คติความเชื่อเรื่องราวเนื้อหารวมถึงเทคนิควิธีการ และแบบอย่างของจิตรกรรมไทยมาฟื้นฟูการทำงาน ให้สอดคล้องกับความรู้สึกส่วนตน สิ่งแวดล้อมและสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้จิตรกรรมไทยมีทิศทางหรือแนวโน้มทางการสร้างสรรค์ ในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเจริญก้าวหน้า เคียงบ่าเคียงไหล่ศิลปะร่วมสมัยของไทย ก้าวไปพร้อมๆ กัน เพื่อสืบทอดศิลปะวัฒนธรรมอันดีงามของชาติสืบไป.

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือเล่มใหม่ โดย ผศ.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ เร็วๆ นี้ ในเครือซีเอ็ดบุ๊ค
  |  Biography  |  Gallery  |  Artist' talk  |  
   
  Copyright © 2007-2013 Thaksinawat.com  All rights reserved.  Create & Maintained by JitdraThanee.com  (best viewed :1024x768 pixels)