โครงการศิลปกรรมร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Visual art Exhibition of South-East Asia Artists.
Jogja Gallery, 17 October - 2 November 2008
 
โดย ธณาเศรษฐ์ ศิรอภิวัลย์ : เรียบเรียงโดย จิด-ตระ-ธานี
Written by Tanasade Silaaphiwon : Edited by JitdraThanee

เรื่องเล่าจากฝีแปรงและพู่กันไทย...บินไกลสู่ยอกยาการ์ต้า




        ยอกยาการ์ต้า (Yogyakarta City) เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ ที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์บุโรพุทโธ และกลุ่มศิลปินที่แสดงความเป็นตัวตนอย่างเข้มแข็งและเด่นชัด

        การจัดงานแสดงนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ เริ่มต้นที่เมืองยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนิเชีย โดยรวบรวมผลงานศิลปะจากกลุ่มศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนิเซีย และมาเลเซีย จะเปรียบไปแล้วก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้น ให้เกิดความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองของศิลปกรรมร่วมสมัยร่วมกัน

        การจัดนิทรรศการเน้นให้ศิลปินทั้ง 4 ประเทศ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยเหล่าศิลปินได้รับเชิญให้เข้าชมสตูดิโอของศิลปินในยอกยาการ์ต้า การเสวนา และอบรมสัมมนา ไปจนถึงชมแหล่งวัฒนธรรมทางศิลปกรรมสำคัญๆ ของเมืองยอกยาการ์ต้า

        นิทรรศการครั้งนี้ ยอกยาแกลเลอรี่, กลุ่มศิลปิน เกลอมบอก เซริงกิต และ อาร์ต แอโซซิเอท ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้น โดยคัดเลือกผลงานของศิลปินทั้ง 4 ประเทศมานำเสนอ โดยหัวเรือใหญ่ของการจัดงานครั้งนี้ เกิดจากความคิดของศิลปินผู้นำกลุ่มเซริงกิต นามว่า "นูโคลิส"

  3 ศิลปินกลุ่ม 'ทักษิณาวรรต' ที่ร่วมเดินทางไปแสดงผลงาน โครงการศิลปกรรมร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

(จากซ้าย) ชัชวาล รอดคลองตัน, ธณาเศรษฐ์ ศิรอภิวัลย์ และ เอกสิทธิ์ จิรัตติกานนท์

        พวกเราศิลปินไทยกลุ่ม "ทักษิณาวรรต" เรียกเขาว่า "นิโคลัส" เพื่อให้ฟังดูแล้วง่ายแก่การจดจำ นิโคลัสได้เสนอความคิดของเขาผ่านไปทางยอกยาแกลเลอรี่ ซึ่งให้ความเห็นชอบ และออกค่าใช้จ่ายให้พวกเรานำผลงานศิลปะไปเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนทัศนคติ

        ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 5 วัน แต่พวกเราก็ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการออกรายการโทรทัศน์ เพื่อเผยแพร่แนวความคิดในการจัดงานครั้งนี้ มีการเสวนา จัดเวิรค์ชอป เพื่อให้กลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์ได้ความรู้จากศิลปินรุ่นพี่ที่มาร่วมจัดแสดงผลงาน

        ผลงานศิลปกรรมได้จัดแสดงออกสู่สาธารณชน ที่เมืองยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนิเชีย

        จากวันแรกที่พวกเราเดินทางเข้าสู่เมือง ระหว่างจัดการย้ายสัมภาระเข้าที่พัก ทางแกลเลอรี่ได้เตรียมกลุ่มบุคคลไว้สำหรับต้อนรับและดูแลพวกเราโดยเฉพาะ โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเทศละ 1 คน พวกเราโชคดีที่ได้มีโอกาสพบศิลปินอินโดนิเชีย เขามารับพวกเราถึงที่สนามบิน แต่ก็คุยอะไรกันได้ไม่ได้มากนัก เพราะเขาไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษ ตรงนี้ค่อนข้างเป็นอุปสรรคในการสื่อสารพอสมควร ตกตอนเย็นก็เตรียมตัวยกทีมศิลปินทั้งหมด ไปถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่เขาจัดเตรียมไว้ ณ โรงแรมเชอราตัน เป็นรายการบันทึกเทปเพื่อที่จะนำไปออกอากาศในวันเสาร์ หลังจากวันเปิดแสดงนิทรรศการหนี่งวัน เนื่องจากกลุ่มศิลปินเวียดนาม อินโนนิเชียและมาเลเซียมาถึงก่อนหน้าพวกเราหนึ่งวัน พวกเขาจึงได้แวะเข้าไปชมสตูดิโอของศิลปินในกลุ่มเซริงกิต ถึงแม้พวกเราจะพลาดโอกาสชม แต่เราก็ไม่ปล่อยให้โอกาสเสียไป ด้วยการแนะนำตัวเองกับศิลปินจากประเทศต่างๆ ไต่ถามเรื่องราวต่างๆ จากศิลปินที่มาจากประเทศเวียดนาม ซึ่งดูจะเป็นกลุ่มที่แยกตัวเป็นอิสระ ส่วนศิลปินมาเลเชียนั้น มีผู้สะสมผลงานศิลปะ (Art collector) ติดตามมาด้วยและแยกกันเป็นกลุ่มๆ

          กว่าจะถ่ายทำเสร็จก็ดึกเอาการ เลยทำให้การเดินทางไปชม การแสดงนาฏศิลป์เรื่องรามเกียรติ์ (เวอร์ชั่นอินโดนีเซียแท้) ในวันนี้สายไปหน่อย การแสดงนั้นใช้สถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญ คือพรามมานัง (Pramanang Tempel) เป็นพื้นที่และฉากหลังในการจัดแสดง จึงทำให้การแสดงดูเข้มขลังขึ้นมาอย่างจับใจ กว่าจะการแสดงจะเลิก กลับถึงโรงแรมก็ดึก วันนี้พวกเราเลยหลับกันเป็นตาย



        เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราเดินทางไปดูงานที่ อาร์ต แอตโชซิเอท ซึ่งเป็นที่ที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่มาอาศัยพักทำงาน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราได้พบกับผู้อำนวยการของที่นั่น และวันนั้นก็เป็นวันเปิดงานของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง เขาเปิดงานกันอย่างเรียบง่าย กล่าวแนะนำศิลปิน และให้ศิลปินเซ็นชื่อบนแผ่นโปสเตอร์ เป็นอันเสร็จพิธี
พวกเราได้เป็นแขกพิเศษของพวกเขาในวันนี้ หลังจากชื่นชมผลงานเสร็จ ก็เป็นเวลาของศิลปินชาวเวียดนาม ทำเวิร์คชอปเรื่องแลกเกอร์ (Lacquer) โชคไม่ดีนัก เนื่องมาจากเป็นสารอันตราย อีกทั้งพวกเขานำขึ้นเครื่องบินมาไม่ได้ เราจึงได้เห็นแต่สไลด์นำเสนอผลงาน ได้ดูแต่ประวัติ ไม่ได้มีโอกาสลงมือทำ

        พอเที่ยงวันมีการจัดเลี้ยงอาหารท้องถิ่น และเครื่องดื่มเตรียมไว้เสิร์ฟ เนื่องจากเมืองนี้เป็นชุมชมมุสลิม เราจึงได้รับประทานอาหารที่ไม่มีหมูเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่จะเป็นปลา และไก่ ซึ่งรสชาติอร่อยเข้มข้นตามต้นตำรับดั้งเดิมแบบอินโดนีเซีย

        ช่วงบ่ายพวกเราต้องเดินทางกลับแกลเลอรี่ เพื่อดูความเรียบร้อยในการติดตั้งผลงาน ได้มีโอกาสถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกระหว่างเตรียมงาน จากนั้นก่อนเวลาแสดงงาน พวกเรากลับไปที่โรงแรม แต่งตัว เพื่อเตรียมมาร่วมงานในตอนเย็น

  ชัชวาลถ่ายภาพที่ป้ายชื่องาน หน้านิทรรศการ

        การเปิดงานครั้งนี้กลุ่มศิลปินซิริงกิตทั้งกลุ่ม แต่งเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ (เนื่องจากเมืองยอกยาการ์ต้า มีชื่อเสียงในการแสดงนาฏลีลาเรื่องรามเกียรติ์) ทำให้พวกเราซึ่งเป็นแขกต่างถิ่นรู้สึกตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จะเปิดแสดงนิทรรศการ มีการกล่าวเพื่อที่ให้ผู้เข้าชม และผู้สื่อข่าว ได้รู้ความเป็นมาของผลงาน แนวความคิด และเทคนิควิธี ของศิลปินแต่ละท่าน ในแต่ละประเทศ ซึ่งนำมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้  เริ่มจากศิลปินไทย ชัชวาล รอดคลองตัน, เอกสิทธิ์ จิรัตติกานนท์, ธณาเศรษฐ์ ศิรอภิวัลย์  ศิลปินเวียดนาม DAN ANH TUAN, DO XUAN TINH, NGUYEN THANH SON, NGUYEN TRAN CUONG, TIEP NGUYEN XUAN, NGUYEN NGOC PHUONG ศิลปินอินโดนิเชีย Anggar prasetyo, Buniyal Ibun Abroru, Eddy Sulistyo, Hadi Soesanto, Hardiana, Jono, Luksmi Shitaresmi, Kukuh Nuswantoro, Nurkholis, Valentinus rommy i.t., I Wayan Cahya และศิลปินมาเลเชีย  Abu zaki bin Hadri, Jack ting mui chii, Ng bee



ถ่ายภาพร่วมกับศิลปินอินโดนีเซีย (กลุ่มซิริงกิต) และศิลปินอาเซียนชาติอื่นๆ ในวันเปิดนิทรรศการ ที่ยอกยา แกลเลอรี่


        พีธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ ได้รับเกียรติจาก เลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศ อินโดนิเชีย เป็นประธานในพิธี ซึ่งตัวแทนได้กล่าวเปิดงานและหลังจากพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการเสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มศิลปินซิริงกิต ได้ขึ้นเวทีแสดงการเล่นดนตรี ร้องเพลงและวาดภาพประกอบไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นศิลปินทั้งหมดรวมทั้งประธานในพิธี ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปช่วยกันแต่งแต้มสีสัน ลงบนผืนผ้าใบ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ ได้ถูกนำไปตั้งแสดงไว้ด้านหน้าทางเข้าของแกลเลอรี่ในวันถัดมา


        เช้าวันที่สาม เราตื่นแต่เช้า เพราะต้องมีการทำเวิร์คชอปของพวกเรา กลุ่มศิลปินไทย พวกเราคิดกันตั้งแต่อยู่เมืองไทยว่า...จะทำอย่างไรดี เนื่องจากเขาต้องการให้แสดงสิ่งที่เป็นความร่วมสมัยคือ

1. แสดงความเป็นประเพณีในวิถีร่วมสมัย และ
2. แสดงความร่วมสมัยในงานเชิงประเพณี

        สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจิตรกรรมไทยประเพณี ก็คือ "การใช้ทองคำเปลว" ซึ่งไทยเรามีวิธีการใช้ทองคำเปลว ที่แตกต่างจากพวกเขา การนำเสนอวิธีการปิดทองและแนวคิดในการใช้ทองคำเปลวของคนไทยในภาพจิตรกรรมไทย จึงน่าจะเป็นหัวข้อที่สร้างความสนใจให้แก่นักเรียน ศิลปิน และบุคคลทั่วไปที่เข้าอบรมได้ อีกทั้งพวกเราได้เตรียมผ้าใบเปล่า เพื่อจะทำการสาธิตการสร้างงานในรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งชัชวาล นำเอาความเป็นประเพณีนิยม มาเสนอในรูปแบบของศิลปะร่วมสมัยทั้งเทคนิค และแนวคิด ส่วนของเอกสิทธิ์ นั้น ด้วยความเป็นคนชอบศิลปะแนวเซอร์เรียลิส (Surrealism) จึงนำเสนอแนวคิดและมุมมองร่วมสมัยจากคติคำสอนในพระพุทธศาสนา สำหรับ ธณาเศรษฐ์ เสนอเรื่องการปิดทองและการใช้ทองคำเปลวในงานจิตรกรรมไทย ความคิดที่เปลี่ยนไปในมุมมองของศิลปะร่วมสมัย พวกเราทั้งสามคนได้ร่วมวาดภาพกัน หลังจากเสร็จเวิร์คชอป ก็พักรับประทานอาหารและเดินทางต่อ เพื่อไปเยี่ยมเยียนนักสะสมศิลปะ ที่สร้างชุมชนศิลปิน ห่างออกไปจากเมืองยอกยาการ์ต้าได้ราว 3 ชั่วโมง โดยชุมชนแห่งนั้นมีชื่อว่า Kampung Seni Lerep Ungaran ความน่าสนใจของสถานที่แห่งนี้คือ เปิดรับศิลปินจากทุกๆ ที่ ให้เข้ามาพำนักและสร้างผลงานทั้ง บาติก (Batik) จิตรกรรม (Painting) ศิลปะการแสดง (Performance) ณ ที่นี้ เรามีโอกาสได้ร่วมกันเขียนรูปเป็นที่ระลึก ซึ่งสถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักของศิลปินและบุคคลทั่วไป ที่ผ่านมาเยี่ยมเยียนและแวะเวียนมาฝากผลงานเอาไว้ จึงเป็นที่ๆ น่าสนใจอีกแห่งหนี่งในเมืองยอกยาการ์ต้า



กลุ่มทักษิณาวรรต ร่วมทำ workshop


        วันที่สี่พวกเราได้มีโอกาสแวะชมพระมหาเจดีย์บุโรพุทโธ ซึ่งเป็นพุทธสถานที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในอินโดนิเชีย บุโรพุทโธสร้างอยู่บนเนินจากหินภูเขา เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาสำหรับชาวพุทธ ซึ่งแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ในพื้นที่อันมีประวัติยาวนานมาหลายศตวรรษ

        พวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนบุคคลสำคัญในวงการศิลปะอินโดนิเซียอีกท่านหนึ่ง ซื่งเป็นบุคคลแรกๆ ที่เก็บสะสมผลงานของศิลปินอินโดนิเชีย โดยท่านสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวไว้สำหรับเก็บผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในพิพิธภัณฑ์แยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นอาคารที่แสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ของศิลปินในยุคเริ่มแรก ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งสร้างไว้สำหรับเก็บผลงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่ง ดร. Oie มีความภาคภูมิใจ ท่านนำเราเข้าชมแล้วบรรยายภาพต่างๆ ด้วยตัวของท่านเอง และยังมิวายที่จะบอกให้พวกเรา เมื่อเยี่ยมชมเสร็จแล้วให้แวะเข้าไปเขียนข้อคิดเห็นแนะนำติชม ฝากไว้ให้พิพิธภัณฑ์ของท่านด้วย

        ตกเย็นเป็นคืนสุดท้ายที่เราจะต้องอำลาจากกัน พวกเราก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีโดยการจัดงานเลี้ยงอำลา (Farewell party) ซึ่งก็สนุกสนานกันไปตามระเบียบ ศิลปินแต่ละประเทศได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ขึ้นไปร้องเพลงแสดงความสามารถเป็นที่ถูกอกถูกใจ ได้เห็นความเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งกับคนไทยคือ “พวกเขาชอบที่จะขึ้นไปร้องเพลงกัน” และแถมยังร้องได้เพราะมากอีกด้วย จวบจนถึงเวลาที่จะต้องพักผ่อน พวกเราก็แยกย้ายกันกลับโรงแรม



ผลงานที่ศิลปินจากทุกชาติ ฝากฝีมือไว้ก่อนกลับ


       เช้าวันรุ่งขี้น ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ก็ถึงวันที่ต้องล่ำลากันจริงๆ แต่รอยประทับจากความทรงจำดีๆ ที่ได้ร่วมกิจกรรมกันมาตลอด 4 วัน ยังคงตราตรึง

       ท้ายสุดความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ กลุ่มศิลปินซิริงกิต ก็คาดหวังถึงความต่อเนื่อง ที่จะมีการสานโครงงานต่อไปเรื่อยๆ ในประเทศอื่นๆ หมุนเวียนรอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจจะเป็นในมาเลเชีย เวียดนาม หรือในไทย พวกเราก็คาดหวังไว้เช่นนั้นเหมือนกัน เพราะงานที่จัดขึ้นแต่ละครั้งนั้น สร้างบทพิสูจน์และการเรียนรู้ให้เกิดกับกลุ่มคนในพื้นที่นั้นๆ ให้ได้ตื่นตัวและเข้าใจความเป็นไปในปัจจุบันของศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป

        สิ่งที่ได้รับสำหรับการเดินทางไปร่วมแสดงงานครั้งนี้ ก็คือความร่วมมือร่วมใจกันของศิลปินทั้ง 4 ประเทศ ถึงแม้ว่าเราจะมีวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่เราเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเหมือนกัน จึงเป็นเสมือนดั่งเกลียวศิลป์ที่ร้อยผูกพวกเราเข้าไว้ด้วยกัน การได้เรียนรู้วิธีการในการจัดแสดงนิทรรศการของผู้นำศิลปะต่างถิ่น ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิดกับนักสะสมผลงานศิลปะ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีในการจัดงานของพวกเขา อีกทั้งมุมมองของศิลปินแต่ละประเทศ ที่มองว่าศิลปะของเขาเป็นอย่างไรและศิลปะของเราเป็นอย่างไร

        ถึงแม้อินโดนิเชีย..จะเป็นประเทศที่มีหลากเชื้อชาติหลายศาสนา เขาก็ยังให้ความสำคัญกับศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมร้อยวิถีชีวิตของผู้คน ให้เชิดชูความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในโลก พวกเราก็หวังให้รัฐบาลไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญสำหรับพื้นที่ๆ มอบให้แก่ศิลปกรรมร่วมสมัยเช่นกัน

Back to Top
 
   
  Copyright © 2007-2013 Thaksinawat.com  All rights reserved.  Create & Maintained by JitdraThanee.com  (best viewed :1024x768 pixels)